วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

กีฬาเทนนิส



กีฬาเทนนิส



ประวัติเทนนิส

            ประวัติเทนนิส หนึ่งในกีฬายอดนิยมของคนไทย เราได้รวบรวมประวัติ ความเป็นมา และกติกาการเล่นในเบื้องต้นของกีฬาเทนนิสมาไว้ที่นี่แล้ว
             
            กีฬาเทนนิส เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยมจากคนไทย และมาบูมอย่างมากในช่วง 10 ปีหลังมานี้ หลังจาก "ภราดร ศรีชาพันธุ์" นักเทนนิสชาวไทยไปสร้างผลงานยอดเยี่ยม จนก้าวขึ้นไปถึงมือวางอันดับ 9 ของโลก ทำให้เด็ก ๆ และเยาวชนสนใจการเล่นกีฬาเทนนิสมากขึ้น เพราะเป็นกีฬาที่สนุกสนานไม่แพ้กีฬาประเภทอื่น วันนี้กระปุกดอทคอม ก็ไม่พลาดที่จะพาทุกท่านมารู้จักกับกีฬาเทนนิสในเบื้องต้น พร้อมกติกาการการแข่งขันที่จะช่วยให้เราชมเกมการแข่งขันลูกสักหลาดได้สนุกขึ้นไปอีก
             
            ประวัติเทนนิส และความเป็นมา 

            เทนนิส หรืออีกชื่อหนึ่ง ลอนเทนนิส (LawnTennis) ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า มีการเล่นครั้งแรกในประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2098 จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 และ 17 ได้แพร่สู่ประเทศอังกฤษ แต่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้ซบเซาลง และเริ่มหันมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งเมื่อราวศตวรรษที่ 19 โดยในปี พ.ศ. 2416 พันตรี Walter C. Wingfield แห่งกองทัพบกอังกฤษได้นำกีฬาเทนนิสมาดัดแปลงการเล่นใหม่ จากแต่เดิมเล่นกันในที่ร่มมีหลังคา ย้ายไปเล่นกันในสนามกลางแจ้งแทน
 
            ในปี พ.ศ. 2417 กีฬาเทนนิสได้เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการจัดการแข่งขันเทนนิสครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่สนามนาฮันต์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2419 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2424 ได้มีการประชุมเพื่อก่อตั้งสมาคมลอนเทนนิสแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น โดย James White และ F. Artier Junior ก่อนที่ทางสมาคมได้จัดการแข่งขันเทนนิสแห่งชาติขึ้นครั้งแรกที่โรดไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2424 แล้วจึงย้ายไปจัดการแข่งขันที่เวสต์ไซด์ เทนนิสคลับ ฟอเรสต์ฮิล นิวยอร์ก  

 
            ในส่วนของประเทศอังกฤษเอง ได้มีการก่อตั้งสมาคมลอนเทนนิสแห่งชาติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431 ใช้ชื่อว่า "ลอนเทนนิสสมาคม" พร้อมกับจัดพิมพ์กติกาของเลนเทนนิสขึ้นเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2437 และมีการจัดแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งชาติเป็นครั้งแรก จนในที่สุดกีฬาเทนนิสก็ได้แพร่ขยายไปทั่วอาณานิคมทุกแห่งของอังกฤษและเกือบทั่วโลก ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 ได้มีการก่อตั้งองค์การเทนนิสสากลขึ้น เพื่อติดต่อประสานงานระหว่างสมาคมในประเทศต่าง ๆ
              
            ประวัติกีฬาเทนนิสในประเทศไทย
 
            ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครคือผู้นำกีฬาเทนนิสเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่มีการสันนิษฐานว่า เริ่มมีการเล่นกัฬาเทนนิสในสมัยรัชกาลที่ 5 คาดว่านำเข้ามาโดยชาวอังกฤษและชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และประชาชนเพิ่งจะเริ่มให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในราวปี พ.ศ. 2460 จึงได้มีการตั้งสโมสรเทนนิสขึ้นอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2469 

 
            ต่อมาพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงจัดตั้งสมาคมชื่อ "ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย" และได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกของลอนเทนนิสสมาคมเป็นคนแรก พร้อมทั้งได้ออกกฎข้อบังคับของสมาคมฯ ขึ้นใช้เป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งได้ใช้เป็นบรรทัดฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้มีการจัดการแข่งขันให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็นหลายประเภท เช่น ประเภทชายเดี่ยว ประเภทชายคู่ ประเภทหญิงเดี่ยว ประเภทหญิงคู่ ประเภทคู่ผสม เป็นต้น
             
            มารู้จักกฎกติกาการเล่นเทนนิส
 
            สนามเทนนิส

ประวัติเทนนิส

            สนามเทนนิสจะต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 78 ฟุต (23.77 เมตร) กว้าง 27 ฟุต (8.23 เมตร) โดยสนามจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน แบ่งกึ่งกลางด้วยตาข่าย ยึดกับเสา 2 ต้นที่อยู่ห่างจากสนาม ข้างละ 3 ฟุต (0.914 เมตร)
             
            ลูกเทนนิส

ประวัติเทนนิส

            ลูกเทนนิสจะมีลักษณะกลมเสมอกันทั้งลูก หุ้มด้วยผ้าสักหลาดสีขาวหรือสีเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 6.35 เซนติเมตร และต้องมีน้ำหนักมากกว่า 2 ออนซ์ (56.7 กรัม)
             
            ไม้เทนนิส

ประวัติเทนนิส

            ไม้เทนนิสจะต้องมีลักษณะเรียบ ประกอบด้วยเอ็นถักเป็นแบบเดียวกันติดกับกรอบ และเอ็นต้องถักแบบสลับหรือมัดติดกันตรงบริเวณที่เอ็นซ้อนกัน มีความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณตรงกลางของไม้ โดยไม้เทนนิส 1 ไม่ จะไม่สามารถขึงเอ็นมากกว่า 1 ชุด 

            กรอบและด้าม ต้องมีความยาวทั้งหมดไม่เกิน 32 นิ้ว (81.28 เซนติเมตร) และกรอบต้องกว้างไม่เกิน 12 1/2 นิ้ว (31.75 เซนติเมตร) บริเวณพื้นที่สำหรับขึงเอ็นต้องมีความยาวไม่เกิน 15 1/2 นิ้ว (39.37 เซนติเมตร) และกว้างไม่เกิน 11 1/2 นิ้ว (29.21 เซนติเมตร)
             
            กติกาและการเล่นเทนนิส

            ผู้เสิร์ฟและผู้รับ 

            ผู้เล่นจะต้องอยู่คนละฝั่งของตาข่าย ผู้ที่ส่งลูกก่อนคือ "ผู้เสิร์ฟ" ส่วนอีกฝ่ายคือ "ผู้รับ" ในกรณีที่ผู้เล่นพยายามเสิร์ฟลูกล้ำแนวเส้นสมมติที่ลากตรงต่อจากตาข่ายออกไป จะถือว่าไม่เสียแต้ม เว้นแต่ผู้เล่นจะเสิร์ฟล้ำเข้าไปในสนามของคู่ต่อสู้ ทั้งนี้ผู้รับสามารถยืนอยู่ในตำแหน่งใดของสนามในด้านของตนเองก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในเส้นขอบของสนาม

            การเลือกแดนและเลือกเสิร์ฟ

            การเลือกแดนและการเลือกเสิร์ฟ จะชี้ขาดด้วยการเสี่ยง โดยผู้เล่นที่เป็นผู้ชนะ มีสิทธิ์เลือกก่อนหรือให้คู่ต่อสู่เลือกก่อนก็ได้

            การเสิร์ฟ

            ก่อนเสิร์ฟ ผู้เล่นที่เป็นฝ่ายเสิร์ฟต้องยืนข้างหลังเส้นด้วยเท้าทั้งสองข้าง (ให้เส้นหลังอยู่ระหว่างตาข่ายกับผู้เสิร์ฟ) โดยอยู่ระหว่างเส้นสมมติที่ลากตรงต่อออกไปจากจุดกึ่งกลาง จากนั้นให้ผู้เล่นที่เป็นฝ่ายเสิร์ฟ ใช้มือโยนลูกขึ้นไปในอากาศ แล้วใช้ไม้เทนนิสตีลูกนั้นก่อนที่จะตกถึงพื้น เมื่อไม้สัมผัสลูก ถือว่าการเสิร์ฟเสร็จสิ้น

            การเสิร์ฟลูกที่สอง

            เมื่อเสิร์ฟลูกแรกเสีย ผู้เสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟอีกลูกหนึ่งจากหลังสนามด้านเดิมที่เสิร์ฟลูกแรกไปแล้ว แต่ในกรณีลูกแรกที่เสิร์ฟเสียนั้นเป็นเพราะผู้เสิร์ฟยืนผิดด้าน ให้ผู้เสิร์ฟ เสิร์ฟใหม่อีก 1 ลูก จากหลังอีกด้านหนึ่ง

            ลูกเสิร์ฟเสีย

            ในกรณีที่ถือว่า ลูกเสิร์ฟเสีย มีดังนี้

            1. ผู้เสิร์ฟทำผิดกติกา

            2. ผู้เสิร์ฟตีลูกอย่างเจตนา แต่ไม่ถูก

            3. ลูกที่เสิร์ฟไปนั้น สัมผัสสิ่งติดตั้งถาวรอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนสัมผัสพื้น (ยกเว้นตาข่ายและแถบขึงตาข่าย)

            แต่ในกรณีที่หลังจากโยนลูกเพื่อเสิร์ฟแล้ว ผู้เสิร์ฟเปลี่ยนใจไม่ตีลูกแล้วใช้มือรับลูกไว้ จะถือว่าลูกนั้นไม่เสีย
             
            ลำดับการเสิร์ฟ

            เมื่อจบเกมแรก ผู้รับจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้เสิร์ฟ และผู้เสิร์ฟต้องเปลี่ยนเป็นผู้รับ สลับกันเรื่อยไปจนกว่าจะจบการแข่งขัน แต่ถ้าผู้เล่นคนใดเสิร์ฟผิดรอบ ผู้เล่นที่ควรจะเป็นผู้เสิร์ฟจะต้องเป็นผู้เสิร์ฟต่อไปทันที
             

            การขานเล็ท (Let) 

            คำว่า "เล็ท" ที่กรรมการเป็นผู้ขานขึ้น เพื่อหยุดยั้งการเล่น มีความหมายดังนี้

            1. ขานเมื่อให้เสิร์ฟลูกนั้นใหม่

            2. ขานเมื่อให้เล่นแต้มนั้นใหม่

            การขานเล็ท ในขณะเสิร์ฟ หมายถึง

            1. การที่ลูกเสิร์ฟไปสัมผัสตาข่าย หรือแถบขึงตาข่าย แล้วตกในสนามที่ถูกต้อง

            2. การที่เสิร์ฟในขณะผู้รับไม่พร้อมที่จะรับ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟที่ดีหรือเสียก็ตาม
            ทั้งนี้เมื่อมีการเสิร์ฟที่เป็นเล็ท จะไม่มีฝ่ายใดได้แต้ม
             
            การเปลี่ยนข้าง 

            ผู้เล่นจะต้องเปลี่ยนข้างเมื่อจบเกมที่หนึ่ง เกมที่สอง และทุก ๆ เกมคี่ของแต่ละเซต และต้องเปลี่ยนข้างเมื่อจบเซตรวมกันแล้วเป็นเลขคู่
             
เทนนิส


            วิธีนับแต้มในแต่ละเกม

            วิธีการนับแต้มของกีฬาเทนนิส คือ แต้มที่ 1 นับ 15 แต้มที่ 2 นับ 30 แต้มที่ 3 นับ 40 หากผู้เล่นคนใดได้แต้มที่ 4 ก่อน จะถือว่าเป็นผู้ชนะในเกมแต่ถ้าในกรณีที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายได้แต้มสามแต้มเท่ากันให้ขานแต้มว่า ดิวซ์ (Deuce) ฝ่ายได้แต้มก่อนให้ขานแต้มว่า ได้เปรียบ และถ้าผู้เล่นคนเดิมได้แต้มต่อไปอีกหนึ่งแต้ม ผู้เล่นคนนั้นชนะในเกมทันที แต่หากยังไม่ได้แต้ม ต้องมาดิวซ์กันใหม่จนกว่าจะมีฝ่ายใดได้ 2 แต้มติด จึงจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น

            ส่วนที่มาของการนับแต้ม 15, 30, 40 มาจากสมัยก่อนใช้นาฬิกาในการขึ้นคะแนน โดยเข็มสั้นและเข็มยาวเป็นตัวแทนผู้เล่น มีวิธีการนับดังนี้  

            แต้มที่ 1 นับ 15 เลื่อนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 3 ขานแต้มว่า Fifteen

            แต้มที่ 2 นับ 30 เลื่อนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 6 ขานแต้มว่า Thirty

            แต้มที่ 3 ในกีฬาเทนนิสจะนับ 45 เลื่อนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 9 ขานแต้มว่า Forty-five จนกระทั่งปี ค.ศ. 1875 สโมสร Marylebone Cricket Club (MCC) ในอังกฤษซึ่งเป็นผู้ออกกฎกติกาเทนนิสสมัยใหม่ ได้เปลี่ยนมานับแต้มที่สามเป็น 40 หรือ Forty แทน เพื่อให้กรรมการออกเสียงง่ายขึ้น
            แต้มที่ 4 เข็มนาฬิกาไปที่เลข 12 ขานแต้มว่า เกมส์ (Game) เป็นอันจบเกม
             
            การได้แต้ม

            ผู้เสิร์ฟจะได้แต้มเมื่อ

            1. ลูกที่เสิร์ฟที่ไม่ได้เป็นเล็ทดังที่ระบุไว้ว่า ลูกไปสัมผัสผู้รับหรือสิ่งที่ผู้รับสวมหรือถืออยู่ก่อนที่จะสัมผัสพื้น

            2. ผู้รับทำเสียแต้ม 

            โอกาสที่ผู้รับได้แต้ม

            ผู้รับจะได้แต้มเมื่อ

            1. ผู้เสิร์ฟเสียสองลูกติดต่อกัน

            2. ผู้เสิร์ฟทำเสียแต้ม
             
            การเสียแต้ม

            ผู้เล่นจะเสียแต้มเมื่อ

            1. ผู้เล่นไม่สามารถตีลูกที่อยู่ในการเล่นให้ข้ามตาข่ายกลับไปก่อนที่ลูกจะสัมผัสพื้นสองครั้งได้

            2. ผู้เล่นตีลูกที่อยู่ในการเล่นไปสัมผัสพื้น สิ่งติดตั้งถาวร หรือวัตถุอื่นใดซึ่งอยู่นอกเส้นที่ล้อมรอบสนามของคู่ต่อสู้

            3. ผู้เล่นตีลูกก่อนลูกตกถึงพื้น แต่เสีย แม้จะยืนอยู่นอกสนามก็ตาม

            4. ผู้เล่นใช้ไม้เทนนิสสัมผัสลูกหรือตีลูกที่อยู่ในการเล่นมากกว่าหนึ่งครั้ง

            5. ไม้เทนนิสหรือสิ่งที่ผู้เล่นสวมหรือถืออยู่ สัมผัสตาข่าย เสา ไม้ค้ำตาข่าย เชือกขึงตาข่าย แถบขึงตาข่าย แถบหุ้มตาข่าย หรือสนามของคู่ต่อสู้ ในขณะที่ลูกอยู่ในการเล่น

            6. ผู้เล่นตีลูกก่อนที่ลูกจะตกถึงพื้นหรือก่อนที่ลูกนั้นข้ามตาข่ายมา

            7. ลูกที่อยู่ในการเล่น สัมผัสร่างกายของผู้เล่นหรือสิ่งที่ผู้เล่นสวมอยู่ เว้นแต่ไม้เทนนิสที่ถืออยู่

            8. ผู้เล่นขว้างไม้เทนนิสไปถูกลูก  

            9. ผู้เล่นตั้งใจทำให้รูปร่างของไม้เทนนิสที่ใช้ตีอยู่เปลี่ยนแปลงในระหว่างการเล่นแต้ม
             
            เกมไทเบรก

            เกมไทเบรก คือ การเล่นเกมสุดท้ายอันเป็นเกมตัดสิน ในกรณีที่เกมดำเนินมาถึง 6-6 หากผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนถึง 7 พอยท์เป็นคนแรก ผู้เล่นคนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะในเกมเซต ซึ่งเกมไทเบรกจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีผู้เล่นทำคะแนนนำไปได้ 2 พอยท์ อาทิ 9-7, 16-14 เป็นต้น  
             
            การนับแต้มระบบไทเบรก

            ใช้ระบบนับแต้มที่เรียกว่า "No Ad Scoring" ซึ่งเป็นวิธีการนับเลขแบบก้าวหน้าเรียงขึ้นไปตามลำดับคือ แต้ม 1, 2, 3, ... หากผู้เล่นคนใดได้  7แต้มก่อน ถือว่าเป็นฝ่ายชนะในเซตนั้น
             
            รายการแข่งขันเทนนิสในระดับสากล

            Davis Cup  
            เป็นการแข่งขันประเภททีมชายของแต่ละประเทศทั่วโลก การแข่งขันจะมีทั้งหมด 5 แมตช์ โดยการแข่งขันในวันแรกจะเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวชนมือ โดยผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 1 และมือ 2 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม ในวันที่สองเป็นการแข่งขันประเภทคู่ และวันที่สามจะเป็นการแข่งขัน ประเภทเดี่ยวสลับมือ คือ ผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม ทุกแมตช์แข่งขันโดยใช้ระบบ 3 ใน 5 เซต
             
            Federation Cup  (Fed Cup)

            เป็นการแข่งขันประเภททีมหญิงของแต่ละประเทศทั่วโลก โดยแข่งขันกันให้จบสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ มีการแข่งขันทั้งหมด 5 แมตช์ โดยการแข่งขันในวันแรกจะเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวสลับมือ คือ ผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม ในวันที่สองเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวชนมือ โดยผู้เล่นมือ 1 ปะทะกับมือ 1 และมือ 2 ปะทะกับมือ 2 ของแต่ละทีม และการแข่งขันประเภทคู่ทุกแมตช์ จะแข่งขันในระบบ 2 ใน 3 เซต
            
            Grand Slam         

            มีการแข่งขันทั้งหมด 4 รายการ โดยจะเริ่มแข่งขันกันตั้งแต่ต้นปีไล่ไปจนถึงปลายปี ถือเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดของวงการนักเทนนิสอาชีพ ประกอบด้วย

            - ออสเตรเลียนโอเพ่น (Australian Open) แข่งขันในช่วงเดือนมกราคม ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

            - เฟรนช์ โอเพ่น (French Open) แข่งขันในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นแกรนด์สแลมรายการเดียวที่จัดแข่งขันกันบนคอร์ตดิน

            - วิมเบิลดัน (Wimbledon) แข่งขันในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถือเป็นแกรนด์สแลมรายการเดียวที่จัดแข่งขันบนคอร์ตหญ้า และเป็นการแข่งขันแกรนด์สแลมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

            - ยูเอส โอเพ่น (U.S.Open) แข่งขันในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 
             
            ทั้งนี้หากนักเทนนิสคนใดสามารถที่จะชนะเลิศทั้ง 4 รายการติดต่อกันจะถือว่าเป็น แชมป์เปียนแกรนด์สแลม ซึ่งการแข่งขันทั้งหมดมี 5 ประเภท คือ ชายเดี่ยว ชายคู่ หญิงเดี่ยว หญิงคู่ และคู่ผสม




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

กรมพลศึกษา 

โรงเรียนเซนต์โยเฟซทิพวัล 

sites.google.com 

school.net.th 

กีฬาเทเบิลเทนนิส


ประวัติกิีฬาเทเบิลเทนนิส




กีฬาปิงปอง เป็นกีฬาสันทนาการอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนานในหมู่คณะ ขณะเดียวกันก็เป็นกีฬาที่มีความท้าทายที่ผู้เล่นต้องต้องอาศัยไหวพริบ และความคล่องแคล่วของร่างกายในการรับ-ส่งลูก

ปนะวัติปิงปอง

          ซึ่งความท้าทายนี้จึงทำให้กีฬาปิงปองได้รับความนิยมในระดับสากล กระทั่งถูกบรรจุในการแข่งขันระดับโลก ด้วยความน่าสนใจของกีฬาปิงปองนี้ ดังนั้นทางกระปุกดอทคอมจึงได้นำข้อมูลของกีฬาปิงปองมาฝากค่ะ
 
ประวัติกีฬาปิงปอง หรือ เทเบิลเทนนิส
 
          กีฬาปิงปองได้เริ่มขึ้นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) ที่ประเทศอังกฤษ โดยในอดีตอุปกรณ์ที่ใช้เล่นปิงปองเป็นไม้หุ้มหนังสัตว์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไม้ปิงปองในปัจจุบัน ส่วนลูกที่ใช้ตีเป็นลูกเซลลูลอยด์ ซึ่งทำจากพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ โดยเวลาที่ลูกบอลกระทบกับพื้นโต๊ะ และไม้ตีจะเกิดเสียง "ปิก-ป๊อก"  ดังนั้น กีฬานี้จึงถูกเรียกชื่อตามเสียงที่ได้ยินว่า "ปิงปอง" (PINGPONG) และได้เริ่มแพร่หลายในกลุ่มประเทศยุโรปก่อน
 
          ซึ่งวิธีการเล่นในสมัยยุโรปตอนต้น จะเป็นการเล่นแบบยัน (BLOCKING)  และแบบดันกด (PUSHING) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการเล่นแบบ BLOCKING และ CROP  หรือเรียกว่า การเล่นถูกตัด ซึ่งวิธีการเล่นนี้เป็นที่นิยมมากแถบนยุโรป ส่วนวิธีการจับไม้ จะมี 2 ลักษณะ คือ จับไม้แบบจับมือ (SHAKEHAND) ซึ่งเราเรียกกันว่า "จับแบบยุโรป" และการจับไม้แบบจับปากกา (PEN-HOLDER) ซึ่งเราเรียกกันว่า "จับไม้แบบจีน" 
 
          ในปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ.  2443) เริ่มปรากฏว่า มีการหันมาใช้ไม้ปิงปองติดยางเม็ดแทนหนังสัตว์ ดังนั้นวิธีการเล่นแบบรุก หรือแบบบุกโจมตี (ATTRACK หรือ OFFENSIVE)  โดยใช้ท่า หน้ามือ (FOREHAND)  และ หลังมือ  (BACKHAND) เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และยังคงนิยมการจับแบบไม้แบบยุโรป ดังนั้นจึงถือว่ายุโรปเป็นศูนย์รวมของกีฬาปิงปองอย่างแท้จริง
 
          ต่อมาในปี ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465)  ได้มีบริษัทค้าเครื่องกีฬา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า "PINGPONG" ด้วยเหตุนี้ กีฬาปิงปองจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เทลเบิลเทนนิส (TABLE TENNIS) และในปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) ได้มีการประชุมก่อตั้งสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (INTERNATIONAL TABLETENNIS FEDERATION : ITTF) ขึ้นที่กรุงลอนดอนในเดือนธันวาคม  พร้อมกับมีการจัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสแห่งโลกครั้งที่ 1  ขึ้น เป็นครั้งแรก
 
          จากนั้นในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) เป็นยุคที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้หันมาสนใจกีฬาเทเบิลเทนนิสมากขึ้น และได้มีการปรับวิธีการเล่นโดยเน้นไปที่ การตบลูกแม่นยำ และหนักหน่วง และการใช้จังหวะเต้นของปลายเท้า ต่อมาในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการแข่งขันเทเบิลเทนนิสโลกเป็นครั้งแรก ที่กรุงบอมเบย์ ประเทศอินเดีย และในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศรูมาเนีย  ทำให้จึงกีฬาเทเบิลเทนนิสกลายเป็นกีฬาระดับโลกที่แท้จริง โดยในยุคนี้ญี่ปุ่นใช้การจับไม้แบบจับปากกา  และมีการพัฒนาไม้ปิงปองโดยใช้ยางเม็ดสอดไส้ด้วยฟองน้ำ เพิ่มเติมจากยางชนิดเม็ดเดิมที่ใช้กันทั่วโลก

 

ปิงปอง


          ในเรื่องเทคนิคของการเล่นนั้น ยุโรปรุกด้วยความแม่นยำ และมีช่วงตีวงสวิงสั้น ๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นที่ใช้ปลายเท้าเป็นศูนย์กลางของการตีลูกแบบรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ญี่ปุ่นสามารถชนะการเล่นของยุโรปได้  แม้ในช่วงแรกหลายประเทศจะมองว่าวิธีการเล่นของญี่ปุ่น เป็นการเล่นที่ค่อนข้างเสี่ยง แต่ญี่ปุ่นก็สามารถเอาชนะในการแข่งขันติดต่อกันได้หลายปี เรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของยุโรปเลยทีเดียว
 
          ในที่สุดสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้ด้วยวิธีการเล่นที่โจมตีแบบรวดเร็ว ผสมผสานกับการป้องกัน  ซึ่งจีนได้ศึกษาการเล่นของญี่ปุ่น ก่อนนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการเล่นแบบที่จีนถนัด กระทั่งกลายเป็นวิธีการเล่นของจีนที่เราเห็นในปัจจุบัน
 
          หลังจากนั้นยุโรปได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากนำวิธีการเล่นของชาวอินเดียมาปรับปรุง และในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จึงเป็นปีของการประจันหน้าระหว่างผู้เล่นชาวยุโรป และผู้เล่นชาวเอเชีย แต่นักกีฬาของญี่ปุ่นได้แก่ตัวลงแล้ว ขณะที่นักกีฬารุ่นใหม่ของยุโรปได้เริ่มเก่งขึ้น  ทำให้ยุโรปสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศชายเดี่ยวของโลกไปครองได้สำเร็จ
 
          จากนั้นในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) นักเทเบิลเทนนิสชาวสวีเดน  ชื่อ  สเตลัง  เบนค์สัน  เป็นผู้เปิดศักราชใหม่ให้กับชาวยุโรป  โดยในปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ทีมสวีเดนสามารถคว้าแชมป์โลกได้ จึงทำให้ชาวยุโรปมีความมั่นใจในวิธีการเล่นที่ปรังปรุงมา ดังนั้นนักกีฬาของยุโรป และนักกีฬาของเอเชีย จึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ในขณะที่นักกีฬาในกลุ่มชาติอาหรับ และลาตินอเมริกา  ก็เริ่มก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น และมีการแปลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเทคนิค ทำให้การเล่นแบบตั้งรับ ซึ่งหายไปตั้งแต่ปี  ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)  เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง
 
          จากนั้นจึงได้เกิดการพัฒนาเทคนิคการเปลี่ยนหน้าไม้ในขณะเล่นลูก  และมีการปรับปรุงหน้าไม้ซึ่งติดด้วยยางปิงปอง  ที่มีความยาวของเม็ดยางมากกว่าปกติ โดยการใช้ยางที่สามารถเปลี่ยนวิถีการหมุน และทิศทางของลูกเข้าได้ จึงนับได้ว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยมีการพัฒนาอุปกรณ์ และมีวิธีการเล่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา กระทั่งกีฬาเทเบิลเทนนิสได้ถูกบรรจุเป็นการแข่งขันประเภทหนึ่งในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
 
          สำหรับประวัติกีฬาเทเบิ้ลเทนนิสในประเทศไทยนั้น ทราบเพียงว่า คนไทยรู้จักคุ้นเคย และเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสมาเป็นเวลาช้านาน แต่รู้จักกันในชื่อว่า กีฬาปิงปอง โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า มีการนำกีฬาชนิดนี้เข้ามาเล่นในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด และใครเป็นผู้นำเข้ามา แต่ปรากฏว่ามีการเรียนการสอนมานานกว่า 30 ปี  โดยในปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสมาคมเทเบิลเทนนิสสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และมีการแข่งขันของสถาบันต่างๆ รวมทั้งมีการแข่งขันชิงแชมป์ถ้วยพระราชทานแห่งประเทศไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ปิงปอง

การเล่นกีฬาปิงปอง หรือเทเบิลเทนนิส
 
          กีฬาปิงปอง หรือ เทเบิลเทนนิส ที่เรารู้จักกันนั้น ถือเป็นกีฬาที่มีความยากในการเล่น เนื่องจากธรรมชาติของกีฬาประเภทนี้ ถูกจำกัดให้ตีลูกปิงปองลงบนโต๊ะของคู่ต่อสู้ ซึ่งบนฝั่งตรงข้ามมีพื้นที่เพียง 4.5 ฟุต X 5 ฟุต และลูกปิงปองยังมีน้ำหนักเบามาก เพียง 2.7 กรัม โดยความเร็วในการเคลื่อนที่จากฝั่งหนึ่ง ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ทำให้นักกีฬาต้องตีลูกปิงปองที่กำลังเคลื่อนมากลับไปทันที ซึ่งหากลังเลแล้วตีพลาด หรือไม่ตีเลย ก็อาจทำให้ผู้เล่นเสียคะแนนได้
 
           ทั้งนี้ ปิงปองมีประโยชน์ต่อผู้เล่น เนื่องจากต้องอาศัยความคล่องแคล่ว ว่องไวในทุกส่วนของร่างกาย ดังนี้

          1. สายตา : สายตาจะต้องจ้องมองลูกอยู่ตลอดเวลา เพื่อสังเกตหน้าไม้ของคู่ต่อสู้ และมองลูกว่าจะหมุนมาในลักษณะใด 

          2. สมอง : ปิงปองเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมองในการคิดอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องวางแผนการเล่นแบบฉับพลันอีกด้วย

          3. มือ : มือที่ใช้จับไม้ปิงปอง จะต้องคล่องแคล่ว และว่องไว รวมถึงต้องรู้สึกได้เมื่อลูกปิงปองสัมผัสถูกหน้าไม้

          4. ข้อมือ : ในการตีบางลักษณะ จำเป็นต้องใช้ข้อมือเข้าช่วย ลูกจึงจะหมุนมากยิ่งขึ้น

          5. แขน : ต้องมีพละกำลัง และมีความอดทนในการฝึกซ้อมแบบสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความเคยชิน

          6. ลำตัว : การตีลูกปิงปองในบางจังหวะ ต้องใช้ลำตัวเข้าช่วย

          7. ต้นขา : ผู้เล่นต้องมีต้นขาที่แข็งแรง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนที่ตลอดเวลา

          8. หัวเข่า : ผู้เล่นต้องย่อเข่า เพื่อเตรียมพร้อมในการเคลื่อนที่ 

          9. เท้า :  หากเท้าไม่เคลื่อนที่เข้าหาลูกปิงปอง ก็จะทำให้ตามตีลูกปิงปองไม่ทัน

 

ปิงปอง


วิธีการเล่นกีฬาปิงปอง หรือ เทเบิลเทนนิส

          1. การส่งลูกที่ถูกต้อง ลูกจะต้องอยู่ที่ฝ่ามือแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ สูงไม่น้อยกว่า 16 เซนติเมตร

          2. การรับลูกที่ถูกต้อง เมื่อลูกเทเบิลเทนนิสถูกตีข้ามตาข่ายมากระทบแดนของตนครั้งเดียว ต้องตีกลับให้ข้ามตาข่าย หรืออ้อมตาข่ายกลับไป ลูกที่ให้ส่งใหม่ คือ ลูกเสิร์ฟติดตาข่าย แล้วข้ามไปตกแดนคู่ต่อสู้หรือเหตุอื่นที่ผู้ตัดสินเห็นว่าจะต้องเสิร์ฟใหม่

          3. การแข่งขันมี 2 ประเภท คือ ประเภทเดี่ยวและประเภทคู่

          4. การนับคะแนน ถ้าผู้เล่นทำผิดกติกา จะเสียคะแนน

          5. ผู้เล่นหรือคู่เล่นที่ทำคะแนนได้ 11 คะแนนก่อน จะเป็นฝ่ายชนะ ยกเว้นถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้ 10 คะแนนเท่ากันจะต้องเล่นต่อไป โดยฝ่ายใดทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง 2 คะแนน จะเป็นฝ่ายชนะ

          6. การแข่งขันประเภททีมมี 2 แบบ คือ 

                    6.1. SWAYTHLING CUP มีผู้เล่นครั้งละ 3 คน

                    6.2. CORBILLON CUP มีผู้เล่นครั้งละ 2 - 4 คน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย
ศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ

กีฬาว่ายน้ำ



กีฬาว่ายน้ำ




 กีฬาว่ายน้ำ เป็นกีฬาค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปรเทศไทย เนื่องจากอากาศร้อน ๆ จึงทำให้กีฬาชนิดนี้ตอบโจทย์กับสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี

ประวัติกีฬาว่ายน้ำ

          หากใครก็ตามที่ได้ติดตามมหกรรมกีฬาระดับชาติอย่างเอเชียน เกมส์ หรือโอลิมปิก เกมส์ อย่างเข้มข้น ย่อมต้องรู้กันดีว่า มีกีฬาอยู่ 2 ชนิด แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยม เป็นกีฬาพื้น ๆ ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก แต่กลับเป็นกีฬาที่มีการชิงเหรียญทองมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 นั่นคือ... กรีฑา กับ ว่ายน้ำ

          และด้วยความที่กีฬา 2 ชนิดนี้ มีลักษณะการเล่นที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือเรียกได้ว่า เป็นกิจกรรมยามปกติของมนุษย์ ทำให้หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยได้ว่า กิจกรรมปกติแบบนี้ นำมาแข่งเป็นกีฬาได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาไขข้อสงสัยนี้กัน โดยกระทู้นี้จะขอนำเสนอเกี่ยวกับประวัติกีฬาว่ายน้ำ (Swimming) กัน 

ประวัติกีฬาว่ายน้ำ 

          ประวัติกีฬาว่ายน้ำ เริ่มมีการแข่งขันครั้งแรก พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ที่วูลิช บาร์ท ใกล้กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยกติกาการแข่งขันจะว่ายแบบใดก็ได้ ขอให้ถึงเส้นชัยเป็นพอ และหลังจากการแข่งขันครั้งนี้จบลง ประชาชนก็สนใจกีฬาว่ายน้ำมากขึ้น จนถูกบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) จวบจนทุกวันนี้

          สำหรับกีฬาว่ายน้ำในประเทศไทย มีการจดทะเบียนสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ต่อกรมตำรวจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2502 โดยมี พล.ร.ท.สวัสดิ์ ภูติอนันต์ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ก่อนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ ปี 2504

          อย่างไรก็ตาม ปี 2548 สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกีฬาทางน้ำหลายชนิดทั้งว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ, โปโลน้ำ และระบำใต้น้ำ

          ส่วนการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำในปัจจุบัน มีการแข่งขันกันหลากหลายประเภท แยกประเภทการแข่งขันจากท่าการว่าย, ระยะทาง, การว่ายคนเดียวหรือการว่ายเป็นทีม (ว่ายผลัด) ด้วยเหตุนี้เอง จึงสามารถกระจายการชิงเหรียญทองในการแข่งขันไปได้มาก อย่างโอลิมปิก 2012 ครั้งล่าสุด มีการชิงเหรียญทองกันถึง 34 เหรียญกันเลยทีเดียว

ประวัติกีฬาว่ายน้ำ

สำหรับท่าการว่ายในการแข่งขันว่ายน้ำ มีอยู่ 4 ท่าด้วยกัน ได้แก่

          - ท่าฟรีสไตล์ เป็นท่าว่ายอย่างไรก็ได้ ขอให้ต่างจากท่าผีเสื้อ ท่ากบ และท่ากรรเชียง ซึ่งส่วนมากที่เห็นกันคือ การสาวมือว่ายสลับกันไปมาซ้ายขวา

          - 
ท่าผีเสื้อ เป็นการว่ายแบบคว่ำหน้า มือทั้งสองข้างจะต้องยกเหนือน้ำพร้อมกัน

          - 
ท่ากบ เป็นท่าว่ายแบบคว่ำหน้า มือทั้งสองข้างต้องพุ้งไปข้างหน้าพร้อมกัน ส่วนข้อศอกอยู่ใต้ผิวน้ำ พร้อมกับเตะเท้าไปด้านหลังด้วย ถือว่าเป็นท่าที่ว่ายได้ช้าที่สุด

          - 
ท่ากรรเชียง เป็นท่าว่ายแบบนอนหงาย มือสองข้างสลับกันสาวน้ำ เพื่อให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า


ประวัติกีฬาว่ายน้ำ

ขนาดสระว่ายน้ำ

          กว้าง 25 เมตร ยาว 50 เมตร มีลู่สำหรับการว่ายทั้งหมด 8 ลู่ แต่ละลู่กว้างประมาณ 7-9 ฟุต

ประวัติกีฬาว่ายน้ำ

กติกากีฬาว่ายน้ำ 

          กติกากีฬาว่ายน้ำ จะกำหนดเสียก่อนว่า การแข่งขันแบบนี้จะว่ายด้วยท่าอะไร และมีระยะทางเท่าใด ซึ่งผู้เข้าแข่งขันก็จะต้องว่ายตามที่กำหนดไว้ ใครเข้าเส้นชัยได้เป็นคนแรกจะเป็นผู้ชนะ เช่น การแข่งขันฟรีสไตล์ 100 เมตร ผู้เข้าแข่งขันจะต้องว่ายด้วยท่าฟรีสไตล์ ในระยะทาง 100 เมตร แต่ว่า ระยะทางที่ยาวที่สุดของสระว่ายน้ำ คือ 50 เมตร ฉะนั้น ผู้แข่งขันจึงต้องว่ายกลับตัว 1 ครั้ง เป็นการว่ายไปกลับ 1 รอบ จึงจะได้ระยะทาง 100 เมต

          เรื่องการปล่อยตัวก่อนการว่าย กรรมการจะเป่าเสียงนกหวีดยาว เพื่อให้นักว่ายน้ำขึ้นบนแท่นกระโดด ต่อมาเมื่อกรรมการจะบอกว่า "เข้าที่" ผู้แข่งขันจึงก้าวไปยืนที่ปลายแท่นกระโดด รอกรรมการให้สัญญาณปล่อยตัวเป็นเสียงปืน ออด หรือนกหวีด จึงสามารถปล่อยตัวได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในท่าว่ายกรรเชียงกับท่าผลัดผสม จะไม่ปล่อยตัวจากแท่น แต่จะปล่อยตัวจากสระว่ายน้ำแทน

          สำหรับการว่ายผลัด ผู้แข่งขันกระโดดลงสระหลังจากที่เพื่อนร่วมทีมจะว่ายแตะขอบสระไปแล้วเท่านั้น หากเพื่อนร่วมทีมยังไม่แตะขอบสระ แล้วกระโดดลงไป จะถูกปรับแพ้ทันที

ประวัติกีฬาว่ายน้ำ

ประโยชน์ของกีฬาว่ายน้ำ

          - ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง กล่าวคือ การว่ายน้ำก็เปรียบเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีโอกาสเจ็บป่วยยากขึ้น

          - ช่วยรักษาความปลอดภัยของชีวิต กล่าวคือ กีฬาว่ายน้ำสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น ช่วยเหลือคนที่จมน้ำ หรือช่วยเหลือตัวเองในขณะที่ตกน้ำ เป็นต้น

          - ทำให้รู้สึกสดชื่น-คลายเครียด กล่าวคือ การว่ายน้ำเป็นกีฬาที่อยู่กับน้ำทั้งร่างกาย จะช่วยให้ร่างกายมีความสดชื่น ส่งผลให้คลายเครียดจากปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

tasa.in.th